วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ตำรายามสามตา


ตำรายามสามตา


            ท่านท้าวตรีเนตร เล็งญาณทราบเหตุ แต่ยามสามตา คือยามทิพยยนต์ ยามนี้วิเศษ ท่านท้าวเทเวศน์ หยั่งรู้เหตุผล ผู้ใดได้พบ ยามเจ้าจุมพล อาจเข้าใจคน รู้ทุกประการ 
            เดือนแรมบ่ ผิด ให้นับ อาทิตย์ มาหาอังคาร เวียนไปตามค่ำ แล้วจึงนับยาม ชอบเวลางาม จึงทายอย่าคลาด 
            ถ้าเดือนขึ้นไซร้ นับอาทิตย์ไปหาจันทกลา นับตามค่ำแล้ว จึงนับยามมาให้ชอบเวลา แม่นแล้วจึงทาย 
            กำลังอังคาร ท่านท้าวมัฆวาน บอกไว้โดยหมาย จันทร์ปลอดมัธยม นิคมอุบาย ยามเจ้าฤาสาย เที่ยงแท้สัตย์จริง 
            อาทิตย์ คือสีใส กำหนดลงไว้ อย่าได้ยุ่งยิ่ง ตรองให้เห็นเงื่อน อย่าเชือนประวิง ถูกแน่แท้จริง อย่ากริ่งสงสัย 
            ถ้าดูสู้กัน  เล็งดูยามนั้น จะเป็นฉันใด ถ้ากำอยู่หลัง เบื้องหน้ายามใส ว่าเขาจักได้ เราแพ้เสียตน 
            ถ้ากำอยู่หน้า ยามใสโสภา อยู่หลังเป็นต้น เขาพ่ายแพ้กุมเอา 
            ถ้าข้าศึกมา  ถ้ากำอยู่หน้า ศึกมาถึงเรา ถ้าใสอยู่หน้า มาแล้วกลับเล่า หน้าปลอดจักเปล่า ถ้าเจ็บอย่าฟัง 
            คนมากเท่าใด  ถ้าหน้ากำไซร้ คนมากโดยหวัง ถ้าว่าหน้าใส คนน้อยอย่าฟัง ถ้าปลอดอย่าหวัง หาไม่สักคน 
            คนหาญหรือขลาด  หน้ากำสามารถ เรี่ยวแรงแสนกล หน้าใสพอดี บ่มีฤทธิรน หน้าปลอดอำพน ว่าชายเหมือนหญิง 
            ถืออันใดมา  หน้ากำโสกา คือศาสตราจริง หน้าใสถือไม้ มาได้สักสิ่ง หน้าปลอดประวิง ว่าเดินเปล่ามา 
            ว่าสูงหรือต่ำ  หน้ากำควรจำ ว่าสูงโสภา หน้าใสปานกลาง ปลอดต่ำ หนักหนา ทายตามเวลา ยามเจ้าไตรตรึงส์ 
            ว่างามมิงาม  หน้ากำอย่าขาม ว่างามบ่ถึง หน้าใสงามนัก หน้าปลอดพอถึง ยามเจ้าไตรตรึงส์ 
            ว่าหนุ่มหรือแก่  หน้ากำนั้นแล ว่าแก่ชรา หน้าใสกลางคน ปลอดเด็กหนักหนา ประคินเวลา แม่นแล้วจึงทาย 
            คนผอม หรือพี  หน้ากำหมองศรี ว่าพีพ่วงกาย หน้าใสพอดี ฉวีเฉิดฉาย หน้าปลอดเร่งทาย ว่าผอมเสียศรี 
            ดำแดงหรือขาว  หน้ากำควรกล่าว ว่าดำอัปรีย์ หน้าใสดำแดง เป็นแสงมีศรี หน้าปลอดขาวดี เที่ยงแท้โดยถวิล 
            ต้นลงหรือปลายลง  หน้ากำเร่งทาย ว่าปลายลงดิน หน้าใสปลายขึ้น ต้นลงอาจิณ หน้าปลอดเร่งถวิล ว่านอนราบลง 
            สุกหรือดิบห่าม  หน้ากำอย่าขาม ว่าสุกโดยตรง หน้าใสห่ามแท้ ทายแต่โดยตรง หน้าปลอดเร่งปลง ว่าดิบหนักหนา 
            ว่าหญิงหรือชาย  หนำกำเร่งทาย ว่าชายละนา หน้าใสบัณฑิต พึงพิศโสภา หน้าปลอดทายว่า เป็นหญิงโสภาโดยหมาย 
            เต็มหรือพร่องแห้ง  หน้ากำควรแถลง ว่าเต็มบ่มิคลา หน้าใสมิเต็ม งวดเข้มจงทาย หน้าปลอดกลับกลาย ว่าแห้งห่อนมี 
            ขุนนางหรือไพร่  หน้ากำควรไข ว่าคุณมีส หน้าใสโสภา วาสนาพอดี หน้าปลอดกาลี เข็ญใจหนักหนา 
            ไข้เป็นหรือตาย  หน้ากำเร่งทาย ว่าตาย บ่ คลา หน้าใสว่าไข้ ลำบากหนักหนา หน้าปลอดทายว่า ไข้นั้น บ่ ตาย 
            ท่านรักหรือชัง  หน้ากำท่านหวัง รักดังลูกชาย หน้าใสมิรักมิชังโดยหมาย หน้าปลอดเร่งทาย ว่าชังหนักหนา 
            หน้าจืดหรือหวาน  หน้ากำเปรียบปาน น้ำตาลโอชา หน้าใสรสหวาน ประมาณรสา หน้าปลอดทายว่า จืดชืดมิดี
            
หน้าขม หรือเฝื่อนฝาด  หน้ากำสามารถ ว่าขมแสนทวี หน้าใสทายว่า ฝาดนักมิดี หน้าปลอดตรงที่ ว่าจืดจริงนา
            
ว่าอยู่ หรือไป  ถ้าหน้ากำไซร้ ว่าไป บ่ ช้า หน้าใสแม้นไป กลางทางกลับมา หน้าปลอดทายว่า ว่าแต่จะไป
            
สี่ตีนหรือสอง  หน้ากำควรสนอง ว่าสีตีนแท้ หน้าใสสองตีน ประคีนจงแน่ หน้าปลอดจงแก้ว่าตีน บ่ มี
            
แม้นดูของหาย  หน้ากำเร่งทาย ว่าได้บัดนี้ หน้าใสแม้นได้ ช้าเจียนขวบปี หน้าปลอดหน่ายหนี บ่ ได้เลยนา
            
แม้นดูปลูกเรือน  นับยามอย่าเชือน เร่งทายอย่าคลา แม้กำอยู่หลัง ยามใสอยู่หน้า ว่าดีหนักหนา ถาวรมีศรี หน้ากำนำพา คือ กำอยู่หน้า ท่านว่ามิดี แม่เรือนจะตาย วอดวายเป็นผี หน้าปลอดมิดี บอกให้รู้นา
            
ว่าคว่ำหรือหงาย  หน้ากำเร่งทาย ว่าคว่ำ บ่ คลา หน้าใสหงายแท้ นอนแผ่อยู่นา หน้าปลอดทายว่า คะแคงแฝงตน
           
ยามนี้วิเศษ ท่านท้าวตรีเนตร หยั่งรู้เหตุผล คือเนตรท่านเอง แลเล็งทิพยยนต์ สมเด็จจุมพล ให้ไว้เราทาย
           
ผู้ใดได้พบ ยามเจ้าไตรภพ ร่ำเรียนกฎหมาย เดือนขึ้นเดือนลง วันคืนเช้าสาย ให้แม่นแล้วทายอย่าคลาดเวลา
           
พระอาทิตย์ฤทธิไกร คือเนตรท้าวไท ท่านท้าวพันตา อยู่ตรวนลาด พระบาทภูวนา ดูงามหนักหนา รุ่งเรืองเฉิดฉัน
           
ครั้นจักมีเหตุ ร้อนอาสน์ตรีเนตร ตรึกเหตุด้วยพลัน เล็งแลทั่วโลก ทุกทิศหฤหรรษ์ พระองค์ทรงธรรม์ เล็งตาทิพย์พราย
           
ท่านให้นับยาม ครั้นรุ่งอร่าม สวยงามแก่งาย แม้ตะวันเที่ยง เฉวียงวันฉาย สายบ่ายแล้ว บ่ คลาย ฝ่ายค่ำสุริยัน
           
ค่ำเฒ่าเข้านอน เด็กหลับกลับผ่อน ให้นอนเงียบพลัน เที่ยงคืนยามสาม ล่วงเข้าไก่ขัน ใกล้สุริยัน สุวรรณเรืองรอง
           
ตำรานี้นะ ของท่านคุณพระ ครูเทพจอมทอง มาให้สมุห์วาสน์ สามารถท่องจำ ไว้สืบสนอง บทเบื้องต่อบรรพ์
           
ข้าพระสมุห์ คิดอ่านทำนุ บำรุงเสกสรร เป็นกลอนกาพย์สาส์น วิลาสนี้พลัน ยี่สิบแปดบรรพ์ เป็นฉันท์บรรยาย
ยามสามตาอีกตำราหนึ่ง
                                           
           
เมื่อจะดูยามสามตานี้ ถ้าเดือนข้างขึ้น ให้นับแต่อาทิตย์มาหาจันทร์ ถ้าเดือนข้างแรม ให้นับแต่จันทร์มาหาอังคาร เมื่อได้เศษเท่าใดแล้ว ให้ทายตามเศษนั้น ๆ ดังนี้
           
ถ้าดูของหาย ถ้าเศษ ๑ คนในเรือนเอาไปซ่อนไว้ ให้หาจงดี ถ้าเศษ ๒ คนมาสำนักอาศัย ลักไปซ่อนไว้หนบูรพา แลทักษิณ จะมีพี้น้องเอามาคืนให้ ถ้าเศษ ๓ ของนั้นอยู่ทิศประจิม และพายัพ จะได้คืนแล
           
ถ้าเขาถามว่า ผู้ลักไปนั้นหญิงหรือชาย ถ้าเศษ ๑ ว่าผู้หญิงเรือนเดียวกัน ลักไปซ่อนไว้ แทบฝั่งน้ำ และประตูใหญ่ ถ้าเศษ ๒ ทายว่า ผู้ชายบัณฑิตลักไปไว้แทบประตู เศษ ๓ ผู้ใหญ่ต่างเรือนลักไป แล
            
ถ้าดูตาย  ถ้าเศษ ๑ ว่ามิตาย มีผู้เลี้ยงรักษา ถ้าเศษ ๒ มิเป็นไร มีผู้จะเลี้ยงรักษา แต่ว่าจะได้ลำบาก ถ้าเศษ ๓ ว่าตายจริง แล
            
ถ้าถามว่าศึกจะมาหรือไม่  ถ้าเศษ ๑ ว่ามิมา ถ้าเศษ ๒ มาถึงครึ่งทาง ถ้าเศษ ๓ จะมาถึงพลัน แล
            
ถ้าถามว่าผู้ใดจะมา  ถ้าเศษ ๑ ตัวพระยามาเอง ถ้าเศษ ๒ มาแต่เสนาผู้ใหญ่ มากึ่งหนทางแล้วกลับไป ถ้าเศษ ๓ มาแต่นายทหารผู้ใหญ่ แล
            
ถ้าถามว่ามาถึงวันใด  ถ้าเศษ ๑ มาถึงวันนี้ ถ้าเศษ ๔,,,๗ ไม่มา ถ้าเศษ ๒ จะมาถึงใน ๑-๒ วัน ถ้าเศษ ๓ มามิมาเท่ากัน แล
            
ถ้าถามว่าแพ้หรือชนะ  ถ้าเศษ ๑ หนีเรา ถ้าเศษ ๒ แรงเท่ากับ ถ้าเศษ ๓ เขามาแรงกว่าเรา ตั้งทัพอยู่ทิศพายัพ สองวันจึงจะชนะ แล
            
ถ้าถามว่าไปทัพ จะได้รบหรือไม่ได้รบ  ถ้าเศษ ๑ มิได้รบ ถ้าเศษ ๒ ได้รบสักหน่อยหนึ่ง ถ้าเศษ ๓ ตั้งทัพรบ แล
            
ถ้าถามว่าจะได้หรือไม่ได้  ถ้าเศษ ๑ ว่าจะได้ต้นทาง จะเอาได้หลาย ถ้าเศษ ๒ ว่ามิได้ ถ้าเศษ ๓ จะได้ภายนอกเมือง แล
            
ถ้าถามว่าจะได้เชลยหรือมิได้  ถ้าเศษ ๑ ว่าจะได้ ถ้าเศษ ๒ ได้แต่มนตรี และนางเทวี ถ้าเศษ ๓ จะได้ขุนนางผู้ใหญ่ แล
            
ถ้าถามว่ามีที่ไปจะมาช้าหรือมาเร็ว  ถ้าเศษ ๑ ว่ายังมิมา ถ้าเศษ ๒ เพิ่งจะมา ถ้าเศษ ๓ มาถึงในเดี๋ยวนี้ ถ้าวันนี้ไม่มาอีก ๓ วันหรือ ๗ วัน จะมา แล
            
ถ้าถามว่าจะไปบกหรือไปเรือดี  ถ้าเศษ ๑ ไปบกดี ถ้าเศษ ๒ ไปเรือแต่พอคุ้มตัว ถ้าเศษ ๓ ไปบกมีลาภสองประการ แต่ไม่มีลาภต่อหน้า แล
            
ถ้าถามว่าไปรบโจรจะแพ้หรือชนะ  ถ้าเศษ ๑ ว่าเราชนะ ถ้าเศษ ๒ แรงเท่ากัน ถ้าเศษ ๓ โจรแรงกว่าเรา แล
ตำราพิชัยสงคราม
           
เป็นตำราพิชัยสงคราม แบบยุทธอาภรณ์ ตามตำนานเล่าสืบกันมาว่า ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนทิโกศล ทำสงครามกับพระเจ้าอชาติศัตรู อำมาตย์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้ฟังการสนทนาของพระติสสภิกษุ กับบรรดาพระเถระทั้งหลาย ในเรื่องนี้ จึงได้นำความไปกราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์จึงได้ตั้งเป็นตำราตั้งแต่นั้นมา ว่าดังนี้
           
สิทธิการิยะ ถ้าจะยาตราพยุหโยค ท่านให้พิจารณาดูวันดังนี้
           
ถ้าวัน ๑ ได้ครุฑนาม ให้ประดับอาภรณ์สีแดง มือถือธนู แล้วเอาน้ำใส่ศีรษะ คอยฟังเสียงปี่และเสียงไก่ขัน เป็นฤกษ์สกุณสังหาร แล้วให้เร่งเบิกพล โห่ร้องเอาชัย
           
ถ้ายาตราวัน ๒ ได้พยัคฆนาม ให้ประดับอาภรณ์ด้วยสีขาว ถือดาบและเขนเป็นอาวุธ แล้วนอนเสียหน่อยหนึ่ง เอานิมิตรเสียงดุริยดนตรี เป็นสกุณสังหาร เร่งเบิกพล โห่ร้องเอาชัย แล
           
ถ้ายาตราวัน ๓ ได้สีหนาม ประดับเครื่องอาภรณ์สีชมพู ถือดาบเป็นอาวุธ แล้วกินน้ำอ้อยเสียก่อน เอานิมิตรเสียงสุนัขเห่าหอน เป็นสกุณสังหาร เร่งเบิกพลยาตราทัพ โห่ร้องเอาชัย แล
           
ถ้ายาตราวัน ๔ ได้สุนัขนาม กินอาหารเสียก่อนแล้วประดับอาภรณ์สีเขียวใบตองอ่อน มือถือดาบ คอยนิมิตรเสียงแตรสังข์ เป็นสกุณสังหาร เร่งเบิกพล โห่ร้องเอาชัย และ
           
ถ้ายาตราวัน ๕ ได้มุสิกนาม ให้กลั้นใจเอานิ้วกลางกับนิ้วหัวแม่มือ หยิบเอาเถ้ากลางเตาไฟเจิมหน้าเสียก่อน แล้วประดับอาภรณ์สีเมฆสีหมอก มือถือหอกอันคมกล้า เมื่อได้เห็นคิชฌปักษี และนกหมู่ใหญ่บินมา ให้ถือเป็นสกุณสังหาร เร่งเบิกพลโห่ร้องเอาชัย แล
           
ถ้ายาตราวัน ๖ ได้อัชชนาม ให้ทาเครื่องหอมเสียก่อน แล้วประดับอาภรณ์เลื่อมประภัสสร ถือธนูเป็นอาวุธ คอยนิมิตรเสียงดนตรีขับร้องเป็นสกุณสังหาร เร่งเบิกพลโห่ร้องเอาชัย แล
           
ถ้ายาตราวัน ๗ ได้นาคนาม ประดับอาภรณ์สีดำ ถืออาวุธต่าง ๆ แล้วให้ทำอาการขึ้งโกรธ คอยดูกา และนกดุเหว่า เป็นสกุณสังหาร เร่งเบิกพลให้โห่ร้องเอาชัย
           
วัน ๑ ยามจันทร์ กาละไท ตกทิศอุดร ให้ยกเข้าตีข้าศึก ได้เมื่อมโหสถชนะท้าวจุลนี แล
           
วัน ๑ ยาม ๗ กาละไท ตกทิศอาคเณย์ ให้เขาเป็นฝ่ายรุก เราเป็นฝ่ายรับ ได้เมื่อมโหสถชนะแก่อาจารย์เถวัฏ แล
           
วัน ๑ ยาม ๓ กาละไท ตกทิศอิสาน ยามนี้เร่งให้ยกเข้าต่อตีข้าศึก ได้เมื่อพระยาโปริสาท จับพระยาสุดโสมได้ ดีนัก แล
           
วัน ๒ ยาม ๗ กาละไท ตกทิศหรดี ให้ข้าศึกยกมาตีเราก่อนจึงจะตีมีชัย ได้เมื่อพญาราชสีห์จับคชสาร แล
           
วัน ๒ ยาม ๖ กาละไท ตกทิศอิสาน ให้เร่งรุกรบจะมีชัย ได้เมื่อนางนกไส้ เข้าพญาคชสารได้ ดีนัก แล
           
วัน ๒ ยาม ๔ กาละไท ตกทิศทักษิณ ให้เร่งยกพลเข้าต่อตีข้าศึก จะมีชัย ได้เมื่อนายพรานโสอุดร ยิงพญาฉัตทันต์ แล
           
วัน ๓ ยาม ๑ กาละไท ตกทิศทักษิณ ได้เมื่อพระโมคคัลลาน์ ทรมานพญานาคราช ให้เร่งระดมยกเข้าตีเถิด จะมีชัยชนะ แล
           
วัน ๓ ยาม ๒ กาละไท ตกทิศหรดี ยามนี้ให้ตั้งมั่นไว้ก่อน อย่าได้ออกรบเลย ถ้าขืนยกออกรบ จะแพ้แก่ข้าศึก ได้เมื่อพญามารยามาแย่งรัตนบัลลังก์ แล
           
วัน ๓ ยาม ๖ กาละไท ตกทิศอุดร ให้เร่งรบเถิด จะมีชัยชนะแล ได้เมื่อพระพุทธเจ้า ชนะพญามาร แล
           
วัน ๔ ยาม ๗ กาละไท ตกทิศประจิม ให้เร่งรบ จะมีชัยชนะ ได้เมื่อนกหัสดินทร จับคชสารไปกิน แล
           
วัน ๔ ยาม ๕ กาละไท ตกทิศอิสาน ให้เร่งออกรบ จะมีชัยชนะ ได้เมื่อพญาทรพีฆ่าพ่อ
           
วัน ๔ ยาม ๓ กาละไท ตกทิศทักษิณ อย่าออกรบ จะเสียแม่ทัพ และนายทหารได้เมื่อทรพาตาย แล
           
วัน ๕ ยาม ๑ กาละไท ตกทิศบูรพา ให้เร่งรบจะมีชัย ได้เมื่อพระอินทร์มีชัยชนะแก่ท้าวอสูร แล
           
วัน ๕ ยาม ๗ กาละไท ตกทิศประจิม อย่ายกไป ได้เมื่อนางอัศวมุขีจับเอาพราหมณ์ไปได้ แล
           
วัน ๕ ยาม ๕ กาละไท ตกทิศอิสาน ยามนี้ให้เร่งรบเถิด ถ้าจะถอยทัพก็ดี แลได้เมื่อสองพ่อลูกหนีนางอัศวมุขีไปได้ แล
           
วัน ๖ ยาม ๔ กาละไท ตกทิศอิสาน ให้เร่งรบเถิด ถ้าถอยทัพก็ดี แล
           
วัน ๖ ยาม ๒ กาละไท ตกทิศทักษิณ ดีร้ายเท่ากัน พิเคราะห์ดูให้แน่ ถ้าเห็นดีจึงจะให้ยกเข้าตี ถ้าเห็นร้าย อย่ายกไปเลย ได้เมื่อวิชาธรได้นาง แล
           
วัน ๖ ยาม ๗ กาละไท ตกทิศพายัพ ได้เมื่อท้าววิเทหราช ได้นางปัญจาลจันที ยามนี้ให้ยกไปตั้งมั่นรอไว้ก่อน ถ้าข้าศึกยกมาก็แพ้เรา แล
           
วัน ๗ ยาม ๔ กาละไท ตกทิศบูรพา ได้เมื่อพญาฉัตรทันต์ตาย อย่าออกรบเลย
           
วัน ๗ ยาม ๗ กาละไท ตกทิศอุดร ได้เมื่อห่าลงเมืองไพศาลี ยามนี้ห้ามมิให้ออกรบ จะเสียรี้พล และสรรพอาวุธยุทธภัณฑ์ทั้งปวง แล 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น